|
ความเป็นมา
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำ แผนปฏิบัติการการการจัดการขยะมูลฝอย “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดเป้าประสงค์ให้ทุกครัวเรือนที่มีบริเวณหรือพื้นที่ในการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนได้รับการส่งเสริมและจัดทำถังขยะเปียก ซึ่งเป็นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะไปถึง ณ สถานที่กำจัด อีกทั้งเป็นการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 และมีระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 โดยกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขในการจัดทำ ถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดังนี้
- จัดเตรียมถังไม่ใช้แล้วที่มีฝา เช่น ถังสี ถังพลาสติก โดยขนาดของถังขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในครัวเรือน หากมีมากให้ใช้ถังที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
- นำถังมาตัดก้นเปิดด้านล่างถังออกให้ถึงขอบด้านล่างของถัง
- ขุดหลุมขนาดความลึก 2 ใน 3 ส่วนของความสูงของถัง แล้วนำถังไปใส่ลงในหลุมที่ขุดไว้ พร้อมนำดินที่ขุดมาเสริมด้านข้างให้ถังได้ทรงตัวได้มั่นคงในหลุมที่ขุดไว้
- นำเศษอาหาร เศษผักผลไม้ที่เหลือจากการรับประทานมาเทใส่ในถัง กวนด้วยไม้พายเพื่อเพิ่มอากาศให้กับจุลินทรีย์ที่มาย่อยสลายเศษอาหารและปิดฝาถัง
- จุลินทรีย์ในดินและไส้เดือนในดินจะทำการย่อยเศษอาหารในภาชนะให้กลายเป็นปุ๋ย (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับปริมาณขยะเปียก) ในบางกรณีสามารถนำเศษใบไม้ขนาดเล็กมากลบผิวชั้นบนของขยะเพื่อลดกลิ่นก่อนปิดฝาถัง
- เมื่อปริมาณเศษอาหารถึงระดับเดียวกับพื้นดินที่ขุดไว้ (ใกล้จะเต็มถัง, ที่ว่างเหลือประมาณ¼ ของถัง) ให้ปิดฝาแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 เดือน เพื่อให้เศษอาหารย่อยสลายเป็นปุ๋ย เมื่อครบเวลาสามารถตักปุ๋ยออกจาก ถังนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ใส่บำรุงต้นไม้หรือแปลงผัก
- ในขณะที่ถังขยะเปียกใบแรกเต็ม สามารถทำได้ 2 กรณี คือ ตักปุ๋ยออก และทำที่ถังเดิม หรือ ขุดหลุมพื้นที่ใหม่ แล้วยกถังจากหลุมเดิมขึ้นมา และนำไปทำถังขยะเปียกในหลุมใหม่ได้
|